Monday, October 4, 2010

Book Reviews

Charles and Emma: The Darwins’ Leap of Faith

ฝน นิลเขต


สวัสดีคะคุณผู้อ่านทุกท่าน เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของชาร์ล ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้ให้กำเนิดทฤษฎีวิวัฒนาการ และยังเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวผ่านทางผลงานตีพิมพ์ชิ้นเอกของโลกภายใต้ชื่อว่า “On the Origin of Species” กันเป็นแน่ ทฤษฎีของดาร์วินนั้นนับว่าเป็นทฤษฎีที่เปลี่ยนแปลงความคิดในระดับมนุษยชาติกันเลยทีเดียวค่ะ และจัดเป็นรากฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อนักชีววิทยายุคปัจจุบัน จนเราไม่อาจจะจินตนาการได้ว่าหากชาร์ล ดาร์วิน ไม่เผยแพร่ทฤษฎีดังกล่าว โลกเรา ณ ปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไร และวันนี้ในส่วนของ Book Reviews ฝนก็มีหนังสือดีๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตการทำงาน และชีวิตครอบครัวของชาร์ล ดาร์วินมาแนะนำกันค่ะ


หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Charles and Emma: The Darwins’ Leap of Faith” ซึ่งเขียนโดย Dehborah Heiligman จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2009 ที่ผ่านมานี่เอง หลายๆ คนคงจะทราบนะคะว่าโลกเพิ่งจะฉลองวาระครบรอบ 200 ปีให้กับชาร์ล ดาร์วิน ไปเมื่อปีที่แล้วนี่เอง หนังสือเล่มนี้ถือเป็นผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานของชาร์ล ดาร์วิน ได้อย่างพิถีพิถันและละเอียดอ่อน ราวกับว่าเรากำลังดำเนินชีวิตไปพร้อมๆ กับกิจวัตรของดาร์วินเลยค่ะ


เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมรายละเอียดจากจดหมายของบุคคลต่างๆ ทั้งของดาร์วินเอง และเอมม่า เวจวู้ด ภรรยาของดาร์วิน รวมไปถึงข้อมูลในสมุดบันทึกของดาร์วินเองด้วย


ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ มีตั้งแต่หน้าปกเลยทีเดียวคะ โรงพิมพ์ได้จัดทำหนังสือให้เป็นรูปแบบปกแข็ง ภาพหน้าปกสะท้อนให้เห็นรูปชายหญิงคู่หนึ่ง ในมือของหญิงสาวนั้นถือไม้กางเขน ซึ่งสื่อถึงความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ส่วนด้านหลังของชายหนุ่มนั้นมีรูปลิงทำให้เราอนุมานว่านั่นอาจจะเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ก็ได้ ภาพดังกล่าวสามารถเป็นตัวแทนของทฤษฏีทางวิวัฒนาการของดาร์วินได้เป็นอย่างดี รูปเล่มน่าสนใจขนาดน ฝนก็อดไม่ได้ที่จะหยิบหนังสือขึ้นมาเปิดอ่าน แม้จะเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเยาวชน แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆก็ยังได้แง่คิด และอรรถรถอย่างไม่ผิดหวังเลยคะ


ภายในเล่มนั้นแบ่งเป็นบทต่างๆ ถึง 33 บท และแต่ละบทก็เล่าเรื่องราวของดาร์วินตามลำดับเวลา โดยเริ่มการเล่าเรื่องของเขาภายหลังที่เขากลับจากการเดินทางไปกับราชนาวีอังกฤษด้วยเรือ HMS Beagle ในวัยที่ย่างเข้า 30 และเป็นช่วงเริ่มต้นที่จะลงหลักปักฐานสักที่ในกรุงลอนดอน


ผู้เขียนบรรยายให้พวกเราได้เห็นภาพการตามหาหญิงสาวสักคนเพื่อที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของเขา และทำให้พวกเรารู้สึกขบขันไปกับความคิดหวาดกลัวของดาร์วินหากต้องมีภาระครอบครัวให้รับผิดชอบ แต่สุดท้ายแล้วเหตุผล ที่ทำให้ดาร์วิน ตัดสินใจที่จะแต่งงานนั้นก็เพียงเพราะว่า เขาคิดว่าการมีภรรยาไว้เป็นเพื่อนในขณะที่เขาแก่เฒ่านั้น แม้จะต้องแลกด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบ แต่มันก็ยังดีเสียกว่าการที่เขาจะเลี้ยงสุนัขไว้เป็นเพื่อนสักตัว


ในแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้นั้นนอกจากจะบอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของชาร์ลและเอมม่าแล้วนั้น ยังสอดแทรกให้ผู้อ่านเห็นภาพบ้านเมืองในยุคสมัยศตวรรษที่ 19 ซึ่งตรงกับยุควิคตอเรียของประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการขยับขยายบ้านเมือง รวมทั้งผู้เขียนบอกเล่าถึงปัญหาบ้านเมืองในขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย หรือแม้แต่การแตกแยกทางความเชื่อทางศาสนา


นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือ คงจะเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับบุคคลสำคัญต่างๆ รอบตัวของชาร์ลในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่บุคคลในครอบครัวของเขา และเอมม่า ซึ่งแสดงเป็น family tree ไว้อย่างชัดเจน ไปจนถึงผู้ช่วยของเขา ซิมส์ โควิงตั้ง (Syms Covington) ในครั้งที่เดินทางด้วยเรือ Beagle หรือบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งและเป็นผู้คอยให้คำปรึกษา ทั้งยังสนับสนุนทางการเงินแก่ชาร์ล ซึ่งก็มีบิดาของเขาเองและลุงโจซี เวดจ์วู๊ด (Josiah Wedgwood) ผู้ที่ทำให้บิดาของชาร์ลตัดสินใจอนุญาตให้ชาร์ลออกเดินทางไปกับราชนาวีอังกฤษ ไปจนถึงผู้สนับสนุนทฤษฎีของชาร์ลอย่างโทมัส เฮนรี ฮักซ์เล่ย์ (Thomas Henry Huxley) นักชีววิทยาเพื่อนซี้ของชาร์ลเอง เขาให้การสนับสนุนทฤษฎีของชาร์ลจนได้รับการขนานนามว่าสุนัขของชาร์ล ดาร์วิน (Darwin’s Bulldog) และผู้คัดค้านทฤษฎีดังกล่าวเช่น Robert FitzRoy ซึ่งเป็นกัปตันเรือบีเกิ้ลที่ชาร์ลออกเดินทางไปด้วยนั่นเองคะ


นอกจากเนื้อหาที่ผู้เขียนได้บรรยายเรื่องราวอย่างละเอียดที่สุดนั้น เรายังสามารถอ่านข้อความต่างๆ จากจดหมาย สมุดบันทึกของชาร์ล และเอมม่าตามที่ได้บันทึกไว้จริง และหนังสือเล่มนี้ยังได้รวบรวมแหล่งของบรรณานุกรมไว้เพื่อให้ผู้สนใจเข้าไปค้นคว้าต่อได้อีกคะ ฝนก็คิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นหนังสือที่มีทั้งสาระดีๆ ประกอบไปด้วยข้อคิดต่างๆ และยังได้ทั้งความบันเทิงอีกด้วยค่ะ ก่อนจากกันในฉบับนี้ ขอฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยคติดีๆในการทำงานของชาร์ล ดาร์วินคะ


“A man who dares to waste one hour of time has not discovered the value of life.”


“บุคคลใดปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่าแม้เพียงชั่วโมงเดียว บุคคลผู้นั้นย่อมไม่มีวันค้นพบคุณค่าของชัวิต”


No comments:

Post a Comment