Monday, September 13, 2010

Talk to...

คุยกับ ดร. ณัฏฐิกา สุวรรณาศรัย

ศิริขวัญ พลประทีป


กลับมารายงานตัวอีกครั้งนะคะ หลังผ่านเหตุวุ่นวายมาพักใหญ่ในเมืองไทย ต้องบอกว่าโชคดีมากๆ เลยที่ บก. ใจดีของเรามาปฏิบัติหน้าที่แทนปุ้ม ซึ่งทำให้เราได้รู้จักผู้หญิงเก่งในต่างๆ แดนกันค่ะ


ฉบับนี้ปุ้มกลับมารับหน้าที่ อาสาพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับอาจารย์นักวิจัยสาวสวยอีกคนหนึ่งค่ะ อาจารย์ท่านนี้ก็คือ ดร. ณัฏฐิกา สุวรรณาศรัย หรือพี่เอ๋ค่ะ พี่เอ๋เป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒค่ะ งานนี้เฉพาะกิจจริงๆ เพราะเราได้คุณพี่ บก. ที่พึ่งกลับมาจากสวีเดน มานั่งคุยด้วยอีกคนค่ะ คือแบบว่าพอปุ้มได้รับกริ๊งจากคุณพี่ บก. ก็เบิ่งออกจากห้องแลปทันทีเลยค่ะ วันนี้นอกจากจะได้รับความรู้ใหม่ๆ จากพี่เอ๋แล้ว ปุ้มก็ยังอิ่มด้วยนะคะ วันนี้เราคุยกันแบบสบายๆ talk ไป กินไปที่ร้านฟูจิ มาบุญครอง ชั้น 7 ค่ะ...


พี่เอ๋กับพี่ปิงรู้จักกันได้อย่างไรค่ะ


รู้จักกันตอนเรียนปริญญาโทที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ ตอนนั้นพี่เป็นรุ่นพี่ของปิงหนึ่งปีค่ะ


ตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล พี่เอ๋ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอะไรคะ


ตอนนั้น งานวิทยานิพนธ์ของพี่เกี่ยวกับการโคลนยีนฟอสโฟไลเปส ซี (phospholypase C) จากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei หลังจากนั้นก็นำโคลนที่ได้มาผลิตโปรตีนฟอสโฟไลเปส ซี เพื่อที่จะนำใช้ในการผลิต antibody ที่จำเพาะต่อเชื้อก่อโรคตัวนี้ค่ะ


หลังจากที่พี่เอ๋เรียนจบปริญาโทแล้วเรียนต่อปริญาเอกเลยหรือเปล่าค่ะ


หลังจากที่พี่จบปริญาโทแล้วพี่ทำงานก่อนค่ะ แต่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับ systematics ของเห็ดรา ซึ่งไม่เกี่ยวกับงานวิจัยตอนปริญญาโทเลยค่ะ งานที่ทำ จะอยู่ในส่วนของโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ภายในบริเวณพระราชวังสวนจิตรดาค่ะ โดยทำการแยกชนิดของตัวอย่างเห็ดและเชื้อรา ตอนนั้นก็ใช้เทคนิค RAPD (Random Amplification of Polymorphic DNA) และเทคนิค AFLP (Amplified Fragment Length Polymorphism) ในการจำแนกชนิดของเห็ดและเชื้อราประเภทต่างๆ ค่ะ


อะไรที่ทำให้พี่เอ๋ หันมาเรียนต่อในระดับปริญญาเอกค่ะ


คือ ตอนนั้นมีอาจารย์ที่ สวทช. มาชวนให้เรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาของพี่ก็เสนอมีทุนการศึกษาให้ด้วยค่ะ โดยในส่วนของวิทยานิพนธ์ก็ยังคงอยู่ในเรื่องของ systematics ของเห็ดราเหมือนเดิมค่ะ


เรียกได้ว่าเริ่มต้นงานวิจัยได้เลยเพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว


ใช่ค่ะงานวิจัยที่พี่ทำจะศึกษาเกี่ยวกับการจำแนกชนิดของเห็ดรา โดยจะจำแนกโดย 3 ลักษณะ คือ แบบแรกจำแนกตามลักษณะจากรูปร่างสัณฐานวิทยาของเห็ดรา (morphology) แบบที่สองจะแยกตามสาร secondary metabolize ของเห็ดรา ส่วนแบบที่สามจะเป็นการใช้เทคนิคทางด้านอณูชีววิทยา (molecular biology) ในการหาลำดับเบสในส่วนของยีน ribosomal RNA ค่ะ


ถ้าสมมุติว่าปุ้มได้ตัวอย่างเห็ดรามาชนิดหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นชนิดที่เคยศึกษามาแล้ว และได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาแล้ว หรือว่าเป็นชนิดใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยรู้จัก แบบนี้ ปุ้มควรจะตรวจสอบอย่างไรดี


น้องปุ้มก็ต้องนำตัวอย่างเห็ดรามาทำเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อเสียก่อน จากนั้นก็ศึกษารูปร่างสันฐานวิทยาของเห็ดราก่อนโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ ซี่งดูจากการเจริญของเห็ดราในระยะต่างๆ ค่ะ แต่ถ้าเราจะรายงานว่าตัวอย่างของเราเป็นชนิดที่แตกต่างกับเห็ดราชนิดอื่น เราต้องศึกษาความแตกต่างของเห็ดราชนิดนั้นโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเห็ดราใน herbarium (พิพิธภัณฑ์ตัวอย่างเห็ดรา) ซึ่งในประเทศไทย มีศูนย์ใหญ่จะอยู่ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ค่ะ ถ้าเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพวกไลเคน น้องๆ สามารถไปศึกษากันได้ที่ lichen herbarium อยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนี้เองค่ะ แต่ถ้าเห็ดราที่เราศึกษาและต้องการจำแนกเปรียบเทียบกับเห็ดราที่มีคนเคยศึกษามาแล้ว เราก็ต้องทำหนังสือไปของตัวอย่างเห็ดราใน herbarium นั้นค่ะ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวอย่างของเรา


พี่ปิง: น้องปุ้มรู้ไหมครับว่าถ้าต้องการจำแนกไลเคน (lichens) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันระหว่างเชื้อรากับสาหร่าย เขาจะมีวิธีการศึกษาอย่างไร


นั่นสิคะ พี่ปิง อย่างนี้เวลาเราสกัดสารพันธุกรรมคงได้มาทั้งสองตัวเลยนะคะ ทั้งราและสาหร่าย ไม่รู้ว่าจะจำแนกตัวไหนดีค่ะ คงต้องให้พี่ปิงและพี่เอ๋ช่วยเฉลยให้ฟังหน่อยแล้วค่ะ


พี่ปิง: สิ่งมีชีวิตทั้งสองนี้ (คือเชื้อรากับสาหร่าย) เขามีการอยู่ร่วมกันแบบ symbiosis ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ การดำรงชีพร่วมกันแบบนี้ เชื้อราจะเป็นสิ่งมีชีวิตหลักครับ ส่วนสาหร่ายเป็นตัวที่เข้ามาเสริมตามชนิดของเชื้อราซึ่งทำให้ไลเคนมีความแตกต่างกันครับ โดยเวลาที่จะจำแนกชนิดของไลเคน เขาจะทำการศึกษาชนิดของเชื้อราในไลเคนครับ นักวิจัยหลายทีมศึกษาไลเคนโดยใช้ phylogenetic tree เข้ามาช่วยครับ เขาก็จะทำ sequencing จากสารพันธุกรรมของเชื้อราในไลเคนนี่แหละครับ


พี่เอ๋คะ ถ้าลงลึกไปถึงระดับชีวโมเลกุลของเห็ดรา เราจะสามารถจำแนกชนิดเห็ดราได้ด้วยวิธีไหนคะ


สามารถทำได้โดยการเปรียบเทียบลำดับของนิวคลีโอไทด์ค่ะ โดยนำตัวอย่างเห็ดรามาทำการบดก่อน ซึ่งสามารถใช้แผ่น slide สองแผ่นสีกันโดยให้ตัวอย่างอยู่ตรงกลางได้เลยนะคะ จากนั้นนำตัวอย่างมาสกัดสารพันธุกรรมของเห็ดราและนำมาหาลำดับนิวคลีโอไทด์ของยีน ITS (internal transcribed spacer) บน ribosomal RNA จากนั้นนำข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์ที่ได้มาทำการเปรียบเทียบกับลำดับเบสของยีน ITS ในฐานข้อมูลของ NCBI โดยใช้โปรแกรม blast ได้เลยค่ะ ซึ่งยีน ITS นี้มีความหลากหลายสูงในสปีชีส์ที่ใกล้เคียงกันค่ะ โดยทั่วไปแล้วยีนนี้เป็นยีนที่นิยมใช้ในการเปรียบเทียบความแตกต่างของเห็ดราได้ในระดับสปีชีส์เลยค่ะ นอกจากนั้นเรายังสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการหาความใกล้ชิดกันของเห็ดรา ชนิดต่างๆ โดยการทำ molecular phylogeny ได้ด้วยนะคะ


การจำแนกเชื้อรามีทั้งแบบที่ศึกษารูปร่างทางสันฐานวิทยาที่แตกต่างกันและมีศึกษาลงลึกไปในระดับชีวโมเลกุลโดยการหาลำดับเบสด้วย แล้วถ้าเราสนใจที่จะดูความใกล้ชิดของเห็ดราเราควรจะศึกษาอย่างไรคะ


การจำแนกลักษณะจากรูปร่างสันฐานวิทยาของเชื้อราหรือการเปรียบเทียบลักษณะของลำดับนิวคลีโอไทด์ ทั้งสองวิธีนี้สามารถนำมาสร้างความสัมพันธ์แบบ phylogenetic tree ได้ทั้งคู่นะคะ


พี่ปิง: ใช่แล้วครับ phylogenetic tree สามารถสร้างได้จากข้อมูลทั้งสองแบบผสมผสานกัน (คือ morphology และ sequence)


โอ้โห...ได้ความรู้เยอะเลยนะคะเนี่ย ปุ้มต้องขอขอบคุณพี่ปิงและพี่เอ๋มากเลยที่ทำให้ปุ้มและเพื่อนสมาชิกของ THAI bioinformatics ได้รับความรู้เกี่ยวกับการจำแนกเห็ดราค่ะ พูดแล้วเปรี้ยวปากจริงๆ ค่ะท่านผู้อ่าน อาหารเย็นวันนี้คงไม่พ้นต้มยำเห็ด...สารพัดค่ะ ว่าแล้วฉบับนี้คงต้องขอตัวไปก่อนนะคะ อ้อ...สำหรับท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับงานวิจัยต่างๆ สามารถแนะนำมาได้เลยนะคะ เดี๋ยวปุ้มจะอาสาพาไปฟังเรื่องราวความรู้ต่างเกี่ยวกับงานวิจัยและนักวิจัยที่ท่านๆ สนใจกันค่ะ แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ สวัสดีสวีดัดค่ะ

No comments:

Post a Comment