International Conference on Systems Biology 2010
กิติพร พลายมาศ
สวัสดีค่ะ เดือนตุลาคมที่ผ่านมาเก๋มีโอกาสไปร่วมงานประชุมวิชาการชื่อว่า ICSB 2010 ที่เมืองเอดินบระ ประเทศสก๊อตแลนด์ค่ะ เก๋เลยคิดว่าอยากจะนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง แถม บ.ก. ก็เปิดไฟเขียวให้เต็มที่ งานนี้ก็เลยกลายมาเป็นบทความที่เพื่อนๆ กำลังอ่านกันอยู่นี่ล่ะค่ะ
งาน ICSB 2010 มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า International Conference on Systems Biology แล้วครั้งนี้ก็จัดเป็นครั้งที่ 11 แล้วด้วย งานนี้จัดว่าเป็นการรวบรวมนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักเรียนนักศึกษา ในสาขา biology, mathematics, และ computer science สำหรับงานวิจัยทาง systems biology จากทั่วโลก [เพื่อนๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของงานประชุมเพิ่มเติมได้ที่ www.icsb2010.org.uk] โดยผู้ริเริ่มก่อตั้งและจัดงานประชุมนี้เป็นครั้งแรกก็คือ Prof. Hiroaki Kitano และงานถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ต่อมาก็จัดงานประชุมนี้ต่อเนื่องมาทุกปีค่ะ
งานนี้ เริ่มต้นในวันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคมค่ะ โดยทั้งวันมีเปิดอบรมให้แก่นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจได้ร่วมฝึกหัดใช้ software หรือเทคนิคในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ มี tutorial ด้วยกันทั้งหมด 22 คอร์ส เก๋ก็เข้าร่วมไปสองคอร์สค่ะ ทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ซึ่งคอร์สที่เก๋เข้าอบรมก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ BioModels Database และ CellNetAnalyzer
กว่าจะเสร็จสิ้นจากการฝึกอบรมต่างๆ ก็ปาเข้าไป 6 โมงเย็นแล้วค่ะ ซึ่งก็เป็นเวลาของพิธีเปิดงานประชุมวิชาการอย่างเป็นทางการ โดยมี Prof. Nigel Brown (Vice-Principal and Head of the College of Science and Engineering) จากมหาวิทยาลัยเอดินบระ กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ตามด้วย Prof. Igor Goryanin และ Prof. Ursula Klingmüller กล่าวต้อนรับและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับงานวิจัยทาง systems biology
ในส่วนของ Prof. Goryanin ท่านได้ได้แบ่งสาขาต่างๆ ของ systems biosciences ออกเป็นสีๆ ซึ่งดูแล้วก็น่าสนใจดีค่ะ สีที่ท่านแบ่งไว้ก็จะเป็นดังนี้ค่ะ
Red Biomedical Science สำหรับงานวิจัยทาง systems biomedicine ว่าเราต้องการวิธีการเพื่อทำให้เรามีอายุยืน มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น โดยอาศัยความรู้พื้นฐานจากการเข้าใจ human genotype และ phenotype อย่างลึกซึ้ง เพื่อการรักษา วินิจฉัยโรค และวัคซีนแบบใหม่ๆ
Green Biomedical Science สำหรับงานวิจัยทาง agricultural systems biology เพื่อการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์
Grey Biomedical Science สำหรับงานวิจัยทาง ecological systems biology เพื่อหาวิธีอนุรักษ์ธรรมชาติและกระบวนทางชีววิทยาเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง bioremediation
White Biomedical Science สำหรับงานวิจัยทาง systems biotechnology ไบโอเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเลียม
Blue Biomedical Science สำหรับงานวิจัยทาง marine systems biology การใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตในทะเลและแหล่งวัตถุดิบทางทะเล
นี่อาจจะแนวโน้มและทิศทางของ systems biology ในปัจจุบันและเป็นเป้าหมายหลักในอนาคตของงานวิจัยทางนี้ด้วยก็ได้นะคะ
Prof. Klingmüller บรรยายงานวิจัยเกี่ยวกับ signal transduction และ lung cancer พร้อมทั้งให้ไอเดียรวมถึงจินตนาการเกี่ยวกับการทำวิจัยว่า เป็นการศึกษาการทำงาน การบรรเลงเครื่องดนตรีต่างๆ เพื่อสุดท้ายจะได้บรรเลงบทเพลงที่ไพเราะที่สุดร่วมกัน เครื่องดนตรีต่างๆ ต้องแสดงร่วมกันหรือบรรเลงร่วมกัน ตามหน้าที่ของเครื่องดนตรีนั้นๆ เปรียบเสมือนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และการทำงานของโปรตีนต่างๆ ในเซลล์ ในช่วงท้าย Prof. Klingmüller ยังเปิดเพลง symphony อันไพเราะให้ได้ฟังกันอีกด้วย หลังจากเสร็จสิ้นการเปิดงานอย่างเป็นทางการ ทุกคนได้มีโอกาสพูดคุยกันในบรรยากาศสบายๆ พร้อม welcome drinks and snacks ในหอแสดงผลงานโปสเตอร์
ช่วงวันที่ 11-14 ตุลาคม เป็นสี่วันหลักของงานประชุมเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความรู้กันตลอดทั้งวัน โดยแต่ละวันจะมี keynote speakers ด้วยกันสองท่านสำหรับช่วงเช้าและช่วงบ่าย และแต่ละช่วงจะถูกแบ่งเป็น 4 parallel sessions ซึ่งมี talks ทั้งหมดประมาณ 136 talks ด้วยกัน และในส่วนของโปสเตอร์ ก็มีมากกว่า 350 โปสเตอร์ค่ะ ทำให้ต้องแบ่งการนำเสนอออกเป็นสองวันในช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 11 และวันอังคาร 12 เพื่อนสมาชิกคนไหนสนใจรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมของงานประชุมและ abstract book ก็ download ได้ที่ http://www.icsb2010.org.uk/scientific-programme/
Keynote speakers ของงานมีทั้งหมด 10 ท่าน แต่ละท่านก็มีเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอทั้งนั้นเลยค่ะ และในงานก็มีหัวข้อน่าสนใจให้ไปฟังมากมาย เอาเป็นว่าเก๋ขอกล่าวโดยสรุปจากความเข้าใจส่วนตัวนะคะ เก๋คิดว่าแนวโน้มงานวิจัยทางนี้ น่าจะเน้นไปทาง integrative methods ที่รวมความรู้ในหลายๆ เรื่องมาวิเคราะห์ร่วมกัน มีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของโปรตีนหรือยีนโดยใช้ networks ต่างๆ และพยายามโยงความสัมพันธ์ระหว่างระดับ regulatory networks กับ metabolic networks มีการวิเคราะห์ข้อมูล network ขนาดใหญ่เพื่อศึกษาหน้าที่การทำงานของยีน นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะทำ map ของโปรตีนที่มีส่วนสำคัญในเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ต่างกัน หรือแม้แต่การทำงานของโปรตีนในระบบที่แตกต่างกัน อย่างใน เซลล์ปกติ กับเซลล์มะเร็งหรือเซลล์ที่ติดโรค จากการบรรยายของ Prof. Erich Wanker ในหัวข้อ “The era of network biology: understanding the pathogenesis of Huntington’s disease” วิธีการทางการคำนวณก็จะเน้นไปทางปรับปรุงการออกแบบแบบจำลองให้เป็น dynamics มากขึ้น ให้มีความเร็วขึ้นและความถูกต้องมากขึ้น วิธี Bayesian inference และ differential equations ยังคงมีความสำคัญสำหรับทางวิจัยทางนี้ ดังที่จะเห็นได้ในหลายๆ talks มีความพยายามที่จะใช้ Bayesian computational appraoch เพื่ออธิบาย Boolean regulatory network จาก mRNA expression data ในการบรรยายของ Dr. Dominik Lutter
นอกจากนี้ก็ มีการนำเสนอ softwares ต่างๆ อย่างเช่น ModelMaGe, BioLayout และ Copasi เพื่อศึกษาวิจัยแบบจำลองของ Signaling pathways และ Databases ต่างๆ อย่าง BioGrid (www.biogrid.org), phosphoGrid (www.phosphogrid.org), และ KEGG database (www.genome.jp/kegg)
นอกจาก sessions ต่างๆ ของงานประชุมแล้ว ในวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคมยังมี workshop ในหัวข้อเฉพาะทางต่างๆ อย่างเช่น modeling in biomedicine, machine learning in systems biology, GeneSys workshop, Integration of omics data into metabolic pathways analysis และ systems modeling approaches in drug discovery and drug development–a drug industry view
ในแต่ละ workshop จะมี discussion กันในหัวข้องานที่เฉพาะเจาะจงและมีความเป็นกันเองมากกว่างานประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันจะได้พบปะพูดคุยกันในรายละเอียดของงานได้มากกว่า และในที่นี่ ผู้เขียนขอแนะนำให้รู้จักกับ GeneSys workshop ที่ผู้เขียนได้เข้ามีส่วนร่วมในครั้งนี้นะคะ
GeneSys workshop
GeneSys workshop เป็น workshop ที่จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยเกี่ยวกับการบูรณาการณ์รวมสาขาวิชาอย่างพันธุศาสตร์ bioinformatics และคณิตศาสตร์ เพื่องานทาง reverse-engineering ของ regulatory networks โดยเฉพาะ รายละเอียดเพิ่มเติมหาอ่านได้ที่ www.genesys.co.uk ซึ่งในงานประชุมครั้งนี้ ทาง GeneSys ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (travel fellowship) มาร่วมประชุมของนักวิจัยรุ่นใหม่ในสาขานี้ ทั้ง doctoral students และ junior post-doc scientists เพื่อเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยของตนเอง มีการจัดสรรทุนค่าเดินทางให้แก่ผู้ผ่านการคัดเลือกสำหรับ oral presentation 10 ท่าน ท่านละ 1000 ปอนด์ และ poster presentation 10 ท่าน ท่านละ 100 ปอนด์ ผู้ได้รับการคัดเลือกทุกท่านจะต้องร่วมทำกิจกรรมและสัมมนาใน GeneSys workshop นี้ และผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับ travel award สำหรับ poster presentation (ค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนจาก University of Heidelberg ที่ผู้เขียนศึกษาอยู่) อยากแนะนำให้รู้จักกับ GeneSys เพราะรูปแบบของ workshop มีความเป็นกันเองมาก และเพื่อนๆ ที่ได้รับ awards เพื่อมาบรรยายมาจากหลายประเทศ ทั้ง บราซิล อเมริกา เกาหลี ฝรั่งเศส และอื่นๆ จึงอยากแนะนำและชักชวนผู้ที่สนใจหาสมัคร travel fellowship เพื่อมาร่วมงานประชุมค่ะ
ค่าใช้จ่ายและสถิติผู้ร่วมงาน
ค่าใช้จ่ายในการร่วมงานประชุมนี้ มีค่าลงทะเบียน 350 ปอนด์ ค่า tutorial คอร์สละ ประมาณ 40-50 ปอนด์ ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพง แต่ก็มีผู้มาร่วมงานมากถึง 1280 ท่าน โดยส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยจากประเทศอังกฤษ (31%) เยอรมนี (18%) อเมริกา (11%) ญี่ปุ่น (6%) และ เนเธอร์แลนด์ (4%) ตามลำดับ ประเทศทางแถบเอเซียอีกประเทศหนึ่งที่ถือว่ามีผู้มาร่วมงานมาก ได้แก่ ประเทศเกาหลี (อันดับที่ 9 คิดเป็น 2% จากผู้ร่วมงานทั้งหมด) ค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมด (ค่าลงทะเบียน และค่าเข้าร่วม tutorial รวมค่าขอวีซ่า ค่าที่พัก ค่าเดินทาง และค่าอาหาร) ไม่ต่ำกว่า 1000 ปอนด์ (*หมายเหตุ อันนี้เป็นกรณีเดินทางจากประเทศเยอรมนีและไม่ใช่คนสัญชาติยุโรปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่า) ถ้าคิดว่าเราเดินทางมาจากประเทศไทยเพื่อร่วมงานประชุมนี้ ค่าใช้จ่ายน่าจะสูงกว่านี้ แต่อย่างไรเสีย ผู้เขียนอยากสนับสนุนให้พวกเราได้มีโอกาสมาร่วมงานประชุมนานาชาติ เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และอัพเดตความรู้ใหม่ๆ ในสาขางานวิจัยที่เราสนใจ และอีกทั้งยังทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานวิจัยมากขึ้น รวมไปถึงได้รู้จักนักวิจัยในสาขาเดียวกัน เพื่อนร่วมงานใหม่ที่เราอาจร่วมกันสร้างผลงานดีดีได้อีกในอนาคต
จากสถิติผู้เข้าร่วมงานและจากเท่าที่ผู้เขียนเดินสำรวจรอบงานๆ ดูเท่าที่จะทำได้ ผู้เขียนไม่ได้เจอกับนักวิจัยไทยในงานนี้ ผู้เขียนจึงอยากแนะนำให้พวกเราได้รู้จักงานประชุมนี้กันมากขึ้น และอีกทั้งผู้เขียนมีความเชื่อว่าพวกเรามีประสิทธิภาพและมีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งผลงานเข้าร่วมงานประชุมนี้ได้ จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจทุกท่าน ลองหาโอกาสดีๆ มาเผยแพร่ผลงานวิจัยในเวทีนานาชาตินี้กัน จึงขอถือโอกาสนี้แนะนำ งานประชุม ICSB ครั้งที่ 12 (www.icsb-2011.net) ภายใต้การกำกับดูแลของ Prof. Roland Eils ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่ผู้เขียนทำงานอยู่ด้วย ซึ่งงานจะมีขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ณ เมือง Heidelberg ประเทศเยอรมนีนั่นเอง
BANGKOK | 2 day training course in Bioinformatics & Drug Design | Interaction of small molecules with drug targets
ReplyDeleteDates: 18 - 19 February, 2019.
Venue: Movenpick Hotel Sukhumvit, Bangkok, Thailand
AVAIL DISCOUNT OF UP TO 25% ON REGISTRATION FEE, WRITE TO sarah@biodiscoverygroup.com
Event webpage- https://asia.explara.com/e/bangkok-training-course-bioinformatics-drug-design
YouTube- https://www.youtube.com/watch?v=9feUH70aIIo
All #training #workshop upcoming events- http://www.biodiscoverygroup.com/JSP/LifeSciences/Workshops.jsp